ทำความรู้จัก ‘สายตรวจไซเบอร์’ หน่วยลาดตระเวนบนโลกออนไลน์ มือปราบมิจฉาชีพยุค 5G
ปัจจุบันต้องยอมรับว่า ภัยจากอาชญากรรมโลกออนไลน์ เข้าใกล้ตัวเราทุกวัน และเราต้องจะรับมือกับภัยโลกออนไลน์ ได้อย่างไร วันนี้มาทำความรู้จักกับ
พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท) ผบช คนใหม่ ที่พึ่งเข้ามารับตำแหน่ง ผบช ได้เข้ามาปัดฝุ่นโครงการสายตรวจไซเบอร์’ หน่วยลาดตระเวนบนโลกออนไลน์มือปราบมิจฉาชีพยุค 5G ขึ้นมา ให้ทันยุคสมัย
Next
Stay
โดย พล.ต.ท.ไตรรงค์ กล่าวถึง โครงการสายตรวจไซเบอร์ เป็นอีกหนึ่งภารกิจของตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ตำรวจไซเบอร์ให้โดยมีแนวความคิดคล้ายกับการจัดสายตรวจพื้นที่ มีหน้าที่ออกตรวจข้อมูลคดีออนไลน์ จากฐานข้อมูลในระบบรับแจ้งความออนไลน์ (Thaipoliceonline.go.th) และการตรวจหาข้อมูลที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายในทางออนไลน์จากแหล่งข้อมูลเปิดต่าง ๆ หลังจากตรวจพบข้อมูลที่อาจเป็นภัยออนไลน์ ซึ่งเข้าหลักเกณฑ์ที่กำหนด ก็จะจัดทำรายงานสายตรวจในลักษณะของรายงานข่าวกรอง นำเสนอเพื่อปฏิบัติการสืบสวนสอบสวน และปฏิบัติการเชิงรุกต่อไป
พล.ต.ท.ไตรรงค์ กล่าวต่อว่า สำหรับ สายตรวจไซเบอร์ กำหนดให้มีการจัดเจ้าหน้าที่เข้าเวรทุกวัน ตรวจสอบเหตุอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่เป็นภัยต่อประชาชนในระบบรับแจ้งความออนไลน์ (Thaipoliceonline.go.th) และแหล่งข่าวเปิด เพื่อตรวจสอบและวิเคราะห์ว่ามีภัยออนไลน์ใดที่สร้างความเสียหายกับประชาชนจำนวนมาก มีความเสียหายสูง เป็นคดีที่น่าสนใจ แล้วออกรายงานข่าวกรองเพื่อให้มีข้อเสนอดำเนินการ เช่น
– การป้องกันโดยดำเนินการเชิงรุกกับบัญชีคนร้ายหรือบัญชีม้าแถวสองเป็นต้นไป โดยมาตรการเสนอชื่อเป็นบุคคลผู้มีความเสี่ยงสูงตามกฎหมายฟอกเงิน
– การป้องกันโดยติดต่อเตือนภัยเหยื่อที่ยังไม่เป็นผู้เสียหายในคดีอาญา
– การป้องกันโดยการปิดบัญชีออนไลน์ในแพลตฟอร์มดิจิทัลหรือระบบเทคโนโลยีสารสนเทศต่าง ๆ
– การป้องกันโดยประชาสัมพันธ์ประชาชนให้รู้แผนประทุษกรรมหรือรูปแบบการหลอกลวงใหม่ ๆ
– การสืบสวนขยายผล และ การดำเนินคดีกับความผิดอื่น ๆ ที่อาจเกี่ยวข้อง เป็นต้น
ในการคัดเลือกบุคคลที่จะเข้ามาทำหน้าที่นี้ พล.ต.ท. ไตรรงค์ อธิบายว่า ผู้บังคับบัญชาจะคัดเลือกจากข้าราชการตำรวจฝ่ายประมวลผล สืบสวน สอบสวน ที่มีความชำนาญในการตรวจสอบวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี จำนวน 12 คน แบ่งเป็น ระดับสารวัตร 6 คน รองสารวัตร 6 คน มอบหมายให้เข้าเวร วันละ 2 คน (สว./รอง สว.) ทุกวัน
การตรวจสอบมุ่งเน้นในเรื่องคดีออนไลน์ หรือคดีที่มีแผนประทุษกรรมที่กระทบต่อผู้เสียหายจำนวนมาก มีความเชื่อมโยงหลายคดี หรือเป็นคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน โดยสายตรวจไซเบอร์จะตรวจวิเคราะห์ และเสนอรายงานให้ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีมอบหมายหน่วยงานในสังกัด สืบสวนสอบสวน ปฏิบัติมาตรการเชิงรุก ปิดกั้น หรือมอบหมายให้ชุดปฏิบัติการพิเศษของหน่วยสืบสวนขยายผล ทำรายงานการสืบสวน และทำการป้องกันเชิงรุกต่อไป
ซึ่งระยะเวลาการดำเนินการจนเสร็จสิ้นแต่ละเคสไม่สามารถกำหนดได้อย่างแน่นอน ซึ่งมีเงื่อนไขจากการพิสูจน์ทราบข้อมูลต่างๆ ที่มีความซับซ้อนที่แตกต่างกัน ในบางกรณีอาจมีการติดต่อผู้เสียหาย หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อประสานขอสนับสนุนข้อมูลเพิ่มเติม ก่อนส่งข้อมูลไปยังเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนสอบสวนที่ได้รับมอบหมาย
พล.ต.ท. ไตรรงค์ กล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบวิเคราะห์อาชญากรรมของสายตรวจไซเบอร์ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้เราเห็นว่า Scam Centers ในต่างประเทศ (รอบประเทศไทย) สามารถหลอกลวงผู้เสียหายจำนวนมากได้หลายประเภทคดี ผ่านการใช้ช่องทางสื่อสารทางโทรศัพท์อินเทอร์เน็ต (VOIP), ซิมผี หรือการโฆษณาผ่าน page facebook หลอกลวง, กลุ่มไลน์อวตาร, ใช้ domain/urls ของเว็บไซต์หลอกลวง หรือแพลตฟอร์มดิจิทัลหลอกลวงจำนวนมาก จากนั้น จะให้ผู้เสียหายโอนเงินไปยังกลุ่มคนร้ายทางการเงินผ่านบัญชีม้า แล้วฟอกเงินผ่านบัญชีธนาคารไปเข้าบัญชีกลางสำหรับแลกเหรียญสกุลเงินดิจิทัล แล้วออกไปยัง non-custodian wallets
“แม้ในตอนต้นผู้เสียหายหลายรายเริ่มโอนเงินจำนวนไม่มาก แต่อาจรู้สึกเสียดายเงินที่เสียไปแล้ว จนในที่สุดก็โอนเงินไปให้คนร้ายเป็นจำนวนมากโดยขาดสติ จึงขอให้ตั้งสติ และหมั่นตรวจสอบข้อมูล สอบถามข้อมูลหากว่าอาจถูกหลอกลวง และโทรศัพท์ปรึกษาตำรวจไซเบอร์ได้ทางสายด่วน 1441 กด 2” พล.ต.ท.ไตรรงค์ กล่าว
นอกจากนี้ตำรวจไซเบอร์ยังมีแพลตฟอร์มในการป้องกันตัวเองผ่าน application ชื่อ cyber check และการตรวจสอบข้อมูลบัญชีคนร้าย/เบอร์ผีผ่าน www.checkgon.go.th
ในส่วนการผนึกกำลังระหว่างตำรวจไซเบอร์ สำนักงาน ป.ป.ง. กสทช. กระทรวง DES หน่วยงานต่างประเทศ เพื่อจะขุดรากถอนโคน ยึดทรัพย์พวกเว็บการพนัน และแก๊ง Call Center พล.ต.ท. ไตรรงค์ กล่าวว่า เนื่องด้วยอาชญากรรมทางเทคโนโลยีจะมีความเกี่ยวข้องกับความผิดมูลฐานฟอกเงิน การใช้ซิมผีบัญชีม้า การใช้สัญญาณโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต หรือเงื่อนไขข้อกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความผิดทั้งในและนอกราชอาณาจักร จึงเป็นไปได้ยากที่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีจะดำเนินการเพียงฝ่ายเดียว
ด้วยเหตุดังกล่าวจึงได้เข้าหารือกับผู้บริหารของแต่ละหน่วยงานด้วยตนเอง และขอร่วมมือในการปฏิบัติงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สร้างความผาสุก อุ่นใจให้แก่ประชาชนตามนโยบาย พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบ.ตร
โดย พล.ต.ท.ไตรรงค์ กล่าวทิ้งท้ายว่า เรามี การบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเป็นรูปธรรมแล้ว เช่น ในวันอังคารที่ 17 ธันวาคม 2567 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี จะร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ง. แถลงผลการตรวจสอบความเชื่อมโยงทางคดีที่เกี่ยวข้องกับคดีหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ที่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้ดำเนินคดีไว้แล้ว และสำนักงาน ป.ป.ง. ได้มีคำสั่งยึด อายัดทรัพย์ในคดีไว้ รวมมูลค่ากว่า 2500 ล้านบาท
โดยอำนวยความสะดวกให้ผู้เสียหายที่เกี่ยวข้อง จำนวน 1,351 คดี รวมมูลค่าความเสียหายประมาณ 2,200 ล้านบาท มายื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ได้ระหว่างวันที่ 17-20 ธันวาคม 2567 ณ อาคารประชุมสัมมนาและฝึกอบรม ตร. (เมืองทองธานี) ต.บ้านใหม่ อ.ปากเกร็ด จว.นนทบุรี ที่ผ่านมา จากนั้นก็สามารถไปยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์กับสำนักงาน ป.ป.ง. ตามช่องทางปกติได้…