ชวนรู้จัก! เชื้อเอนเทอโรไวรัส คืออะไร เกิดจากไหน มีอาการอย่างไร เป็นโรคติดต่อมั้ย แพทย์ชี้ อย่าตื่นตระหนก หลังเด็กน้อย 3 ขวบเสียชีวิต
หลังจากกลายเป็นกระแสไวรัลที่สร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนเป็นอย่างยิ่งกับเรื่องราวบีบหัวใจของผู้เป็นแม่ที่ต้องเสียลูกรักในวัยเพียง 3 ขวบจากการติดเชื้อไวรัสที่อยู่ในอากาศและลงไปที่หัวใจ จนทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลัน
พ่อแม่ใจสลาย น้องไดอาน่า วัย 3 ขวบ ติดเชื้อไวรัสในอากาศเสียชีวิต
ด้านนายแพทย์ อนุ ทองแดง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชุมพร เปิดเผยว่า ขอประชาชนอย่าได้ตื่นตระหนกตกใจ สำหรับเด็กหญิงอายุ 3 ขวบ ที่เสียชีวิตดังกล่าวนั้น อาจจะมาจากการสื่อสารที่ไม่เข้าใจกัน เนื่องจากผู้ปกครองที่อยู่ในอาการช็อกเสียใจกับการสูญเสียลูกสาว ความจริงแล้วไวรัสชนิดดังกล่าวมีอยู่ทั่ว ๆ ไป หรือที่เรียกว่า Enterovirus (เอนเทอโรไวรัส)
ซึ่งเอนเทอโรไวรัสมีมานานแล้ว เป็นเชื้อไวรัสตัวเก่าไม่ใช่ตัวใหม่ เชื้อสามารถอยู่ได้ไม่เกิน 3 ชั่วโมง ก็จะถูกทำลายไปกับแสงแดด ความร้อน ความแห้ง และสภาพอากาศ นายแพทย์อนุกล่าวต่อว่า สำหรับผู้ป่วยรายนี้ ซึ่งมีอาการป่วยก่อนเข้าโรงพยาบาล 2 วัน มีอาการไข้ คลื่นไส้ และต่อมามีชักเกร็ง
จากนั้นผู้ปกครองพาเข้ารักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแล้วเสียชีวิต ซึ่งข้อมูลจากผลเลือดทราบว่า ผู้ป่วยรายนี้ติดเชื้อไวรัสปกติ ทั่วไปในกลุ่มของ Enterovirus (เอนเทอโรไวรัส) แต่เชื้อได้ลงสู่หัวใจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบรุนแรงเฉียบพลันจนเสียชีวิต โดยทั่วไปแทบจะไม่มีผู้เสียชีวิตเลย ครั้งนี้ถือว่าอยู่ในอัตรา 0.01 % ซึ่งที่ผ่านมาใน จ.ชุมพร มีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ มีทั้งหมด 8 ราย ไม่มีใครเสียชีวิต แต่รายใหม่นี้เสียชีวิต
นายแพทย์อนุกล่าวต่ออีกว่า ขอให้ประชาชนอย่าได้ตื่นตระหนก เพราะไวรัสชนิดนี้ส่วนใหญ่อยู่ในสภาพแวดล้อมและสังคมทั่ว ๆ ไปอยู่แล้ว ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดอันตรายรุนแรงและเสียชีวิต ถ้าเราป้องกันดูแลตัวเอง เช่น กินร้อนช้อนกลาง ทำความสะอาดพื้นผิว ล้างมือบ่อย ๆ ก็สามารถป้องกันไวรัสชนิดนี้ได้อยู่แล้ว
เพื่อไขข้อข้องใจและทราบถึงอาการของการติดเชื้อเอนเทอโรไวรัสมากยิ่งขึ้น ทีมงานข่าวสดจะมาเปิดอาการของโรคดังกล่าว โดยเอนเทอโรไวรัสเป็นไวรัสที่ติดเชื้อได้ในทุกช่วงวัยแต่มีแนวโน้มที่จะทำให้ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอป่วยได้ง่าย รวมถึงทารก เด็ก และวัยรุ่นที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัส เนื่องจากเป็นการสัมผัสเชื้อไวรัสเป็นครั้งแรก
โดยมีอาการตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงรุนแรง ระยะฟักตัว 3 – 6 วันหลังได้รับเชื้อ ที่สำคัญ เอนเทอโรไวรัสมีหลายชนิดประกอบไปด้วยเชื้อไวรัสทั้งหมด 68 สายพันธุ์ เช่น ค็อกซากีไวรัส เอคโคไวรัสโปลิโอไวรัส และไวรัสตับอักเสบเอ ซึ่งเกือบทั้งหมดอยู่ในลำไส้ของมนุษย์
อาการและสัญญาณของการติดเชื้อเอนเทอโรไวรัสมีอะไรบ้าง?
อาการจะขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อไวรัสเอนเทอโรและส่วนต่าง ๆ ของร่างกายที่เชื้อไวรัสนั้นได้รับผลกระทบ โดยส่วนใหญ่แล้วเด็กจะมีอาการไข้หรืออาการหวัดเล็กน้อยสามารถหายได้เอง เช่น น้ำมูกไหล, จาม, ไอ, แผลในคอหอย หรือปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ไม่บ่อย เอนเทอโรไวรัสสามารถทำให้เกิด
เยื่อบุตาอักเสบ (ตาแดง)
โรคมือ เท้า ปาก
โรคโปลิโอ
เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
โรคสมองอักเสบ
กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (การติดเชื้อของถุงที่ล้อมรอบหัวใจ)
เอนเทอโรไวรัสติดต่อได้หรือไม่?
เชื้อเอนเทอโรไวรัสแพร่กระจายได้ง่ายจากคนสู่คนโดยปกติจะอยู่ในมือที่ไม่ได้ล้างและพื้นผิวที่ปนเปื้อนอุจจาระ ซึ่งสามารถมีชีวิตอยู่ได้หลายวัน นอกจากนี้ ยังสามารถแพร่กระจายผ่านละอองฝอยเมื่อผู้ที่ติดเชื้อไอหรือจาม หรือผ่านของเหลวในตุ่มน้ำที่ผิวหนัง ที่สำคัญ ผู้ที่ติดเชื้อสามารถแพร่เชื้อไวรัสสู่ผู้อื่นได้นานหลายสัปดาห์ แม้ว่าจะไม่มีอาการก็ตาม
การติดเชื้อเอนเทอโรไวรัสจะได้รับการวินิจฉัยอย่างไร?
อาการติดเชื้อเอนเทอโรไวรัสจะคล้ายกับอาการติดเชื้ออื่น ๆ โดยทั่วไปแพทย์จะไม่ทำการตรวจหากผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรง สำหรับการติดเชื้อร้ายแรง แพทย์สามารถตรวจของเหลวจากจมูกหรือลำคอของผู้ป่วยได้ นอกจากนี้ ยังสามารถตรวจเลือดปัสสาวะอุจจาระหรือน้ำไขสันหลังเพื่อตรวจหาไวรัสได้อีกด้วย
การติดเชื้อเอนเทอโรไวรัสรักษาอย่างไร?
ยังไม่มีการรักษาเฉพาะสำหรับการติดเชื้อเอนเทอโรไวรัส เน้นการบรรเทาอาการจนกว่าการติดเชื้อจะหาย ซึ่งปกติจะใช้เวลาเพียงไม่กี่วัน การพักผ่อนให้เพียงพอและดื่มน้ำมาก ๆ อาจช่วยได้ หากมีอาการไข้หรือไม่สบายก็สามารถทานอะเซตามิโนเฟนหรือไอบูโพรเฟน
ด้านทารก ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ รวมไปถึงเด็กและผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพแข็งแรง หากติดเชื้อไวรัสเอนเทอโรรุนแรงอาจต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งอาการที่ควรรีบกลับมาพบแพทย์ทันที ได้แก่
ไข้สูง โดยเฉพาะมากกว่า 39 องศาเซลเซียส และนานกว่า 48 ชั่วโมง
กระสับกระส่าย ร้องกวนตลอดเวลา
อาเจียนบ่อย ๆ รับประทานอาหารไม่ได้หรือได้น้อยมาก
ตัวลาย ซีด
หายใจหอบเหนื่อย
ป้องกันการติดเชื้อเอนเทอโรไวรัสได้อย่างไร?
การติดเชื้อเอนเทอ โรไวรัสชนิดเดียวที่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนคือโรคโปลิโอ เช่นเดียวกับการติดเชื้ออื่น ๆ มาตรการป้องกันที่ดีที่สุด คือ
การล้างมือให้สะอาดและบ่อยครั้ง
หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วย
รักษาพื้นผิวในครัวเรือนให้สะอาดและฆ่าเชื้อ