Redirecting...
แชร์ :

ขึ้นค่าแรง 400 บาท อาจไม่ทันตามสัญญา ผู้ประกอบการลดต้นทุนจ้าง “เอาต์ซอร์ส”

ขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศ อาจไม่ทันตามสัญญา หลังที่ประชุมบอร์ดค่าจ้างล่ม 2 รอบติดต่อกัน นักวิชาการด้านแรงงานวิเคราะห์ การเมืองแทรกแซง แต่ถ้าขึ้นทั่วประเทศไม่ทัน ควรช่วยเหลือแรงงานเอาต์ซอร์ส ที่ถูกเอาเปรียบก่อน

ส่อแววขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ อาจไม่ทันตามสัญญาที่เคยให้ไว้ว่า วันที่ 1 ต.ค. 67 จะมีมาตรการปรับขึ้นค่าแรง แต่การประชุมบอร์ดค่าจ้างช่วงหลังมีอันล่มบ่อย เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ แม้ล่าสุดมีการนัดลงมติกันวันที่ 24 ก.ย.นี้ หลังกรรมการค่าจ้างตัวแทนจากแบงก์ชาติถอนตัว เหตุเกษียณอายุราชการ คาดหาตัวแทนฝ่ายรัฐจากคลังเข้าประชุมแทน เพื่อให้ทันการเสนอเข้ามติคณะรัฐมนตรี

ปี 2567 มีการปรับขึ้นค่าแรง 3 ครั้งใน 1 ปี เป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แม้ก่อนหน้ามีการปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้น 400 บาท แต่อยู่ในกลุ่มธุรกิจโรงแรมบางจังหวัดนำร่อง หลายคนมองว่าค่าแรงของกลุ่มเหล่านี้สูงกว่าที่กำหนดอยู่เดิมแล้ว

ที่ผ่านมา มีเสียงสะท้อนถึงความเป็นห่วงต่อผู้ประกอบการขนาดเล็กที่เสี่ยงแบกรับค่าแรง 400 บาทไม่ไหว แต่ในทางการเมือง ด้วยนโยบายที่พรรคเพื่อไทยได้หาเสียงไว้ ก็อาจสร้างผลดีและผลเสียให้เกิดกับลูกจ้างที่ต้องจับตาบทสรุปหลังจากนี้

การประชุมที่ล่มบ่อยของบอร์ดค่าจ้างในการพิจารณาขึ้นค่าแรง 400 บาท “รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ” คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ศึกษาด้านแรงงาน มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องปกติ แม้วันที่ 24 ก.ย.นี้ จะมีการพิจารณารอบใหม่ ก็ไม่แน่ว่าจะทันให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเริ่มใช้วันที่ 1 ต.ค. 67

“การประชุมบอร์ดค่าจ้างที่ล่มมา 2 ครั้ง แสดงถึงความผิดปกติบางอย่าง แต่ดูก็เป็นเรื่องของการเมืองที่เข้ามาแทรกแซง เห็นได้จากการประชุมรอบแรก ล่มเพราะนายจ้างไม่เข้าร่วมประชุม ส่วนรอบต่อมาองค์ประชุมขาดอีก สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าบอร์ดพิจารณาค่าจ้างขาดความอิสระในการพิจารณา อย่างที่ระบบควรจะเป็น”

แต่ถ้ามีการพิจารณาให้ผ่านมติค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท อาจเป็นการพิจารณาปรับขึ้นเฉพาะบางธุรกิจหรือบางพื้นที่อย่างที่เคยพิจารณามาก่อนหน้านี้ เพราะถ้าขึ้น 400 บาททั่วประเทศ จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวม ที่สำคัญก็กระทบต่อเอสเอ็มอีของผู้ประกอบการไทย ที่ส่อแววจะปิดตัว และถูกบริษัทขนาดใหญ่ซื้อกิจการไปจำนวนมาก สุดท้ายบริษัทขนาดใหญ่เหล่านั้นจะผูกขาดตลาดการผลิตทั้งหมดของประเทศ จนส่งผลต่อผู้บริโภคได้

เกณฑ์การพิจารณาธุรกิจที่ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ที่มีการกำหนดให้ธุรกิจที่มีพนักงาน 200 คนขึ้นไปปรับขึ้น แต่ถ้ามองในความเป็นจริงธุรกิจเหล่านี้ ถ้านายจ้างมีศักยภาพมากพอ จะนำหุ่นยนต์มาใช้แทนแรงงาน แต่ที่เขาต้องใช้แรงงานจำนวนมาก เนื่องจากศักยภาพในการผลิตยังเป็นรูปแบบเก่า เช่น ธุรกิจแปรรูปอาหารทะเล หรือผลิตเฟอร์นิเจอร์

“การปรับค่าแรงขึ้นในรอบนี้ควรพิจารณาเกณฑ์ที่ผลกำไรของธุรกิจเป็นหลัก เพราะถ้ามีผลกำไรมากก็มีโอกาสที่จะจ่ายค่าแรงได้มากขึ้น แต่ถ้าไปดูที่จำนวนพนักงานก็มีโอกาสจะกลายเป็นซ้ำเติมนายจ้างมากขึ้น”

ถ้าไม่ได้ 400 บาททั่วประเทศ ควรดูแลลูกจ้าง Outsource

หากประเมินความเป็นไปได้ การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศไม่ได้ตามเป้าหมาย “รศ.ดร.กิริยา” มองว่า ควรเร่งเข้าไปดูการจ้างงานแรงชั่วคราว หรือ Outsource ก่อน เพราะถือเป็นแรงงานที่ถูกเอาเปรียบ และหลายอุตสาหกรรมการผลิตก็ใช้การจ้างงานลักษณะนี้ เพื่อลดต้นทุนการดูแลพนักงาน สามารถเลิกจ้างได้ง่ายกว่าการเป็นพนักงานประจำ

“แต่ถ้ามองในอีกมุมหนึ่ง หากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ จะทำให้นายจ้างหันมาจ้างงานแบบแรงงานชั่วคราวมากขึ้นเพื่อลดต้นทุน”

การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจากเดิมเป็น 400 บาท ถือเป็นการปรับขึ้นกว่า 10% ทำให้นายจ้างต้องแบกต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น ยิ่งในภาวะนี้เศรษฐกิจค่อนข้างชะลอตัว จะทำให้เกิดวิกฤติด้านแรงงานขึ้นในไทย

สิ่งที่รัฐบาลต้องทำในระยะยาว ไม่ใช่เพียงการขึ้นค่าแรง แต่ควรสนับสนุนนายจ้างให้มีกระบวนการผลิตในรูปแบบใหม่ อย่างที่สากลยอมรับมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องพัฒนาแรงงานให้มีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมถึงพัฒนาการเรียนการสอนให้แรงงานรุ่นใหม่มีความรู้ที่จะสามารถแข่งขันได้กับทุกประเทศทั่วโลก.

Cr.ไทยรัฐ

Tag :
Scroll to Top