ผลวิจัยเผย หมอนทองไหหลำ ทุเรียนจีน สู้ทุเรียนไทยไม่ได้ คุณค่าทางโภชนาการต่างกันลิบ สารต่อต้านอนุมูลอิสระ ต่างจากของไทยที่มีเพียบ
South China Morning Post รายงานข่าวว่า นักวิจัยค้นพบว่าทุเรียนที่ปลูกในจีนขาดสารอาหารสำคัญบางตัว มีความแตกต่างอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับที่มาจากประเทศไทย
นักวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรไห่หนาน ประเทศจีน (Hainan Academy of Agricultural Sciences, CAAS) ได้ศึกษาเกี่ยวกับคุณค่าทางโภชนาการของผลไม้เมืองร้อนที่ปลูกในไหหลำเป็นครั้งแรก พบว่าทุเรียนที่ปลูกในจีนให้คุณค่าทางโภชนาการที่แตกต่างกันอย่างน่าประหลาดใจ เมื่อเทียบกับทุเรียนที่ปลูกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ผลงานศึกษา ระบุว่า ทุเรียนที่ปลูกในจีนอาจมีสารอาหารหลักบางชนิดต่ำมากหรือขาดหายไป ตัวอย่างเช่น “ทุเรียนหมอนทอง” ที่ปลูกในประเทศจีนไม่มีสารเควอซิติน (Quercetin) ซึ่งเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระเลย ในขณะที่ทุเรียนของไทยนั้นมีปริมาณมาก
ขณะเดียวกัน ทุเรียนที่ปลูกบนเกาะไหหลำ ประเทศจีนนั้นมีหลายสายพันธุ์ที่พบสารเควอซิติน (Quercetin) อย่างเช่น “ก้านยาว” ทว่าอยู่ในระดับต่ำกว่าพันธุ์เดียวกันที่ปลูกในต่างประเทศถึง 520 เท่า และต่ำกว่า “ทุเรียนหมอนทองไทย”
นอกจากนี้ยังไม่พบ กรดแกลลิค (Gallic acid) ซึ่งเป็นสารประกอบที่มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระในทุเรียนก้านยาวของจีนด้วย
ขณะที่การศึกษาวิจัยทุเรียนไทยในปี เมื่อปี พ.ศ. 2551 พบว่า ทุเรียนหมอนทอง มีกรดแกลลิค 2,072 ไมโครกรัมต่อ 100 กรัมซึ่งสูงกว่าทุเรียนที่ปลูกในจีนถึง 906 เท่า ที่มีปริมาณเพียง 22.85 นาโนกรัม
อย่างไรก็ตาม จีนได้เริ่มปลูกทุเรียนต้นแรกตั้งแต่ปี 2501 แล้ว แต่กลับไม่เกิดผล ก่อนที่ปี 2561 จะเริ่มมีการปลูกทุเรียนเพื่อการพาณิชย์อย่างจริงจัง ส่วนใหญ่ปลูกในไหหลำ และมีคนปลูกกระจัดกระจายในภูมิภาคกว่างสี และ กวางตุ้ง ทางตอนใต้ของจีน เช่นเดียวกับ ยูนนาน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน